วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การบวชต้นไม้

การบวชต้นไม้



โดยพระศรีสุวงศ์  สิริภทฺโท (ตรีวิเศษศรี)
รหัส  ๕๘๓๐๑๕๐๑๑๒๐๒๑



การบวชต้นไม้

พระศรีสุวงศ์  สิริภทฺโท (ตรีวิเศษศรี)
    

ต้นไม้ เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีคุณค่า และเป็นแหล่งอาศัยของสรรพสัตว์ เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากกลายเป็นผืนป่าที่เรียกว่า “ป่าไม้” ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ให้คุณค่าประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของพืชและสิ่งมีชีวิต เช่น ทรัพยากรทางน้ำ ทะเล อากาศ แร่ธาตุ ทั้งใต้ดินและบนดิน สิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์เหล่านี้ต่างเอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน จากผืนป่าสู่แม่น้ำสายธาร เป็นแหล่งให้ที่อยู่ที่กินของสรรพสัตว์ เกิดอากาศบริสุทธิ์เกิดแหล่งแร่ธาตุที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญทางธรรมชาติ สามารถนำมาพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนเป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันทรัพยากรหลายประเภท โดยเฉพาะป่าไม้ได้ถูกทำลายลง ด้วยฝีมือของมนุษย์ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ได้ทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า เพียงเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์หรือด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ เมื่อธรรมชาติถูกทำลายลงความเปลี่ยนแปลงของโลกก็ปรากฏขึ้น  การเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม พายุ ฝนแล้ง การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่เกิดขึ้นถึงปัจจุบันทำให้มนุษย์ได้รับความเดือดร้อน จากภัยทางธรรมชาติ การทำลายและกล่าวโทษธรรมชาติของมนุษย์เป็นคิดและการกระทำที่ผิด การบวชต้นไม้ เป็นอีกวิธีทางหนึ่งที่ช่วยปกป้อง อนุรักษ์ผืนป่าด้วยหลักธรรมคือความดี ในหลักความสำนึก กตัญญูต่อสิ่งมีคุณและควรทดแทน การร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่เพื่อประโยชน์การอยู่ร่วมกันของเหล่าสรรพสัตว์และเพื่อความสมดุลทางธรรมชาติ ทางพระพุทธศาสนาได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติโดยเฉพาะผืนป่าต้นไม้ ลำธารและการอยู่ร่วมกันกับสรรพสัตว์ที่อาศัยอยู่บนโลกเดียวกัน ด้วยการวางหลักการประพฤติปฏิบัติแก่พุทธบริษัท  เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติได้อย่างลงตัวและเกิดความร่มเย็นสันติสุขสืบไป
พระพุทธศาสนากับป่าไม้ เป็นการนำวิธีทางศาสนาโดยอาศัยหลักธรรมคำสอนเรื่อง ความรู้จักบุญคุณ กตัญญูกตเวที และการเสียสละเพื่อส่วนรวมโดยรู้จักประมาณในการบริโภคเป็นต้น มาเป็นหลักพัฒนาจิตใจ ให้เกิดความสำนึกในความรักในธรรมชาติ ด้วยจิตสำนึกเรื่องบุญบาปหรือคุณธรรมของท่านผู้เป็นเจ้าของ ได้กระทำเป็นตัวอย่าง และให้เป็นธรรมเนียมการประพฤติปฏิบัติ จากการสำนึกคุณของธรรมชาติที่มอบให้ จนกลายเป็นการสร้างวัดที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ เป็นวัดป่าในพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธศาสนามีปรัชญาและคำสอนที่เน้นความตระหนักและมีความเมตตาต่อชีวิตทั้งมวล  แม้ที่ผ่านมา ชีวิตสัตว์ พืชพรรณ ทรัพยากรทางธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากความเขลา ความโลภ และการขาดความเคารพต่อโลก วิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่ถูกรุกราน ด้วยความต้องการความช่วยเหลือที่เร่งด่วน มุ่งเน้นคุณค่าด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ แต่ก็มิได้หมายความว่า จะละเลยบทบาททางวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์ ก็ควรจะมีขอบเขตอยู่กับสภาพของโลก ในขณะที่พุทธศาสนาเป็นแหล่งคุณค่าของมนุษย์ และทุกวันนี้ค่านิยมทางสังคมโดยเฉพาะวัตถุนิยมจะได้รับการกระตุ้นสนองตัณหาความอยากของคนในสังคม
 เราควรจะเริ่มแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ในวิถีทาง ที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์บนโลก ทั้งปัจจุบันและอนาคตได้อย่างไร  จากคำสอนของพระพุทธศาสนาที่เน้นสอนให้เราทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนสรรพสิ่งไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม เพื่อความสงบสุข และความร่มเย็นของทุก ๆคน นับตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลนานมา พระพุทธองค์ทรงวางนโยบายอนุรักษ์ชีวิตสัตว์โลกเอาไว้แล้ว โดยการกำหนดปฏิบัติที่ เรียกว่า "ศีล" ให้แก่ชาวโลก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากผู้คนพยายามรักษาศีลข้อที่หนึ่ง ก็สามารถเพิ่มประชากรสิ่งมีชีวิตมากขึ้น ปัญหาการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าต่างๆจะลดลง ในป่าจะมีสัตว์อาศัยอยู่ และสัตว์ทั้งหลายก็จะมีป่าให้อยู่  สัตว์กับป่าไม้ก็ได้เป็นสื่อสัมพันธ์ที่ดีซึ่งกันและกัน โดยไม่ใช่ทำสัตว์ป่าให้กลายเป็นสัตว์บ้าน นำมาบังคับใส่กรงขังไว้  หรือทำลายป่า เพื่อนำมาสร้างตึกสูงเป็นห้องแถว ทำให้สัตว์ป่าไร้ป่าอยู่ ซึ่งผิดธรรมชาติ ทำให้ป่าต้องร้างวงจรชีวิตของธรรมชาติ  การที่สัตว์กับป่าต้องพึ่งพาอาศัยกันต้องถูกทำลายไม่มีความสมดุลในตัวของมันเอง อันเนื่องมาจากการเข่นฆ่าทำร้ายสัตว์  การข่มเหงบังคับสัตว์อย่างทารุณด้วยฝีมือของมนุษย์จึงเป็นสิ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง

ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธศาสนากับต้นไม้
จากการศึกษาในครั้งพุทธกาลที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและนิทานชาดกจะเห็นว่าพุทธศาสนามีความสัมพันธ์และเห็นคุณค่าในการอาศัยประโยชน์ของธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง  ในพุทธประวัติจะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับป่าไม้หลายประการด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ศากยวงศ์ของพระพุทธ เจ้าจัดตั้งขึ้นโดยพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระเจ้าโอกากราช ณ ป่าไม้สัก ใกล้ภูเขาหิมาลัย อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบสมาก่อน ได้สร้างเมืองขึ้นในป่าไม้สักให้ชื่อว่า กบิลพัสดุ์ โกลิยวงศ์อันเป็นราชวงศ์ของพระนางสิริมหามายา  พระพุทธมารดา ก็มีความเป็นมาเนื่องด้วยป่าไม้กระเบา มีราชธานี ชื่อ กรุงเทวทหะและ เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรส พระนางได้ประสูติพระโอรส ณ ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นป่าต้นสาละ ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ในสมัยที่ทรงพระเยาว์เมื่อครั้งพิธีแรกนาขวัญพระองค์ก็ทรงใช้ร่มไม้ต้นหว้าทำการเจริญสมาธิเป็นครั้งแรกและเกิดการบรรลุปฐมฌาน เมื่ออายุ ๒๙ พรรษาพระองค์ทรงออกผนวชได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้  ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ เป็นเวลา ๖ ปี แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์(พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในแต่ละยุคสมัย ล้วนตรัสรู้ใต้ต้นไม้ทั้งสิ้นและมีต้นไม้ประจำของพระองค์เอง) แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร ต้นเกด ตามลาดับ “ที่สำคัญการเสวยวิมุตสุขสัปดาห์ที่สองของพระองค์นั้น พระองค์ทรงยืนเพ่งมองดูต้นอัสสัตถพฤกษ์หรือต้นศรีมหาโพธิ์ โดยไม่พระพริบตาเป็นเวลาเจ็ดวัน พระองค์ ทรงรำลึกถึงคุณผู้ให้ร่มเงาคือต้นพระศรีมหาโพธิ์  การได้มาประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์เป็นรัตนบัลลังค์ทำให้พระองค์ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ” เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย  ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน อันเป็น สวนป่า และทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีกเป็นอันมาก ณ ป่าอิสิปนมฤคทายวันแห่งนั้น จนเกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลกคราวแรกติดต่อกันถึงหกสิบรูป ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อนุบุพพิกถา และอริยสัจสี่ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวาร จำนวนรวมกัน ๑๒๐,๐๐๐ ท่าน ณ ลัฏฐิวน อันเป็นป่าเช่นเดียวกัน พระอารามแห่งแรกใน พระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และ พระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สาหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น ยังมีป่าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า อีกเป็นอันมาก เช่น มัททกุจฉิ มฤคทายวัน ในแคว้นกาสี แคว้นโกศล อันเป็นที่ตั้งของพระอารามคือพระเชต วัน บุพพาราม มีป่าเป็นอันมาก นอกจากเชตวัน คือ ป่าของเจ้าเชต ที่ท่านอนาถบิณทิกเศรษฐีซื้อเพื่อสร้างเป็นพระอารามถวายพระพุทธเจ้าแล้วยังมีอนธวัน และนันทวัน ที่พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ ได้ไปพักอาศัยในป่าเหล่านั้น ในแคว้นวัชชี และแคว้นสักกะ มีชื่อป่ามหาวันอยูท้งสองแห่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรเป็นอันมากแก่พระภิกษุบาง เทวดาบ้าง พระราชา พราหมณ์ คฤหบดีบาง ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในป่านั้น ตามปกติพระพุทธเจ้าจะเสด็จหลีกออกจากหมู่คณะไปประทับสงบอยูในป่าระยะสั้น ๆ เจ็ดหรือสิบห้าวันทุกครั้งจะเสด็จเข้าไปประทับในป่า เช่นคราวที่ พระภิกษุทะเลาะกันที่เมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับอยูที่ป่ารักขิตวัน อยู่ช้างและลิงที่เรียกว่าป่าเลไลย์  เราเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่าปางป่าลิเลยกะ  
จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าตลอดถึงพุทธบริษัททั้งหลาย ล้วนมีความเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์กับป่า ต้นไม้และธรรมชาติ การอยู่ป่าเป็นวัตรจัดเป็นนิสย  เป็นปัจจัยเครื่องอาศัยชีวิตของนักบวชในพระพุทธศาสนาและแม้นักบวชในลัทธิอื่นก็ถือแนวเดียวกัน พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ ในสมัยพุทธกาลล้วนแล้วแต่อาศัยอยูในป่าเป็นส่วนมาก  ยิ่งท่านที่ต้องการเจริญกรรมฐาน เจริญสมณธรรมด้วยแล้ว  เสนาสนะป่าเขา เงื้อมถ้ำเขา ล้วนเป็นสถานที่ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติเจริญสมณธรรม พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญป่าไว้โดยนัยต่าง ๆ เป็นอันมาก  เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา ป่าไม้ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งบุญ ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย พระพุทธเจ้ารับสั่งตอบเทวดาที่มา กราบทูลถามว่า “ชนเหล่าใด สร้างสวนดอกไม้ ผลไม้ ปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และให้โรงเป็ นทาน บ่อน้ำทั้งบ้านที่พกอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์” 

พระพุทธศาสนากับบทบัญญัติทางพระวินัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติทางพระวินัยที่ห้ามมิให้ พระภิกษุกระทำการอะไรเป็นการทำลายสภาพของป่า และต้นไม้ เช่น พระภิกษุรูปใดตัดทำลายต้นไม้ถ้าเป็นต้นไม้มีเจ้าของหวงแหน ท่านปรับอาบัติในฐานอทินนาทานคือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ถ้าเป็นการตัดกิ่งต้นไม้ของตนหรือของวัด  ท่านปรับอาบัติในข้อที่เป็นการพรากภูติคามคือ หักรานกิ่งใบ ดอกของต้นไม้ แม้แต่การทำลายต้นไม้ที่เป็นเมล็ดที่ปลูกได้ แง่ง กิ่งของต้นไม้ ล้วนปรับเป็นอาบัติทั้งสิ้น และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพของป่า และต้นไม้ ได้มีบทบัญญัติทางพระวินัย ห้าม พระภิกษุถ่ายปัสสาวะอุจจาระ บ้วนน้ำลายลงน้ำ ในของสดเขียวทั้งเล็กและใหญ่ รวมถึงการทิ้งสิ่งสกปรกลงในน้ำ อันเป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ความเชื่อในเรื่องที่มีเทพารักษ์ สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จึงเป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยที่สาคัญในการอนุรักษ์ป่า ต้นไม้ ยิ่งไปกว่านั้น พระวินัยยังกำหนดให้พระภิกษุที่สร้างกุฏิอยู่ตามป่า ไม่ให้ทำลายต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และแม้แต่ได้รับอนุญาตก็ตัดทำลายเองไม่ได้ และยังต้องระมัดระวังไม่ให้กุฏิพังลงมาทับต้นไม้ในป่า ดังนั้นวัดในพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่า อาราม แปลว่า สถานที่ทำใจให้รื่นรมย์ ไม้ที่ให้ร่มเงา วัดหลักในพระพุทธศาสนาจึงมีคำลงท้ายว่า วัน ที่แปลว่า ป่า เช่น เวฬุวน เชตวัน ชีวกัมพวัน และแม้แต่นิโครธาราม ก็เป็นป่าที่มีต้นไทรขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใด เป็นป่าไม้ เป็นสัตว์ป่า เป็นธรรมชาติ เป็นมนุษย์ ก็ตามล้วนต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นวงจรของชีวิต จะขาดส่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้  พระพุทธศาสนาจึงสอนให้เราทำความดีละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ตามแนวทางของศีลธรรม มีศีล๕ เป็นต้น ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ถึงคุณค่าของธรรมชาติและได้วางแนวทางการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับพุทธบริษัทในการดำรงชีวิต  สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันด้วยดี ทำให้สามารถดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้  ป่าไม้ก็สามารถที่จะเป็นผืนป่าที่ให้ความร่มเย็นกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
พระพุทธศาสนา ได้บัญญัติสิกขาบทเกี่ยวกับการพรากของเขียว ต้นไม้และข้อประพฤติปฏิบัติต่อทรัพยากรทางธรรมชาติ พระพุทธองค์ทรงให้ความสำคัญต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าไม้ ที่มีส่วนเอื้อเฟื้อต่อกันและกัน ที่พระพุทธศาสนาได้พึ่งพาอาศัยธรรมชาติมาจนถึงปัจจับัน ดังนั้นการกระทำอันใดที่ไม่ควรแก่พุทธบริษัท ทั้งพระภิกษุที่อาศัยการเจริญวิปัสสนาธรรมในป่าที่เป็น จึงมีข้อห้ามมิให้ทำลาย เพื่อให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรนั้น ๆ ดังปรากฏในพระไตรปิฎกและสิกขาบท
“ป่านี้งดงามสำหรับภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาต นั่งคู้บัลลังก์ (นั่งสมาธิ) ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า ตั้งใจว่า จะไม่เลิกนั่งสมาธิ ตราบใดที่จิตยังไม่พ้นจากกิเลสาสวะไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน (ม. มู. ๑๒ / ๓๘ / ๒๘๙)”
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทเป็นศีลห้ามพระสงฆ์ทำลายต้นไม้ หรือพรากของเขียว  ภูตคาม  ทุกชนิด ห้ามมิให้ขุดดิน  ห้ามถ่ายอุจจาระ  ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงบนต้นไม้ หรือในแม่น้ำลำธาร ทรงบัญญัติสิกขาบทคุ้มครองพืชแห่งภูตคามวรรคว่า “เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพรากภูตคาม” พรากภูตคามในที่นี้หมายถึงการทำให้พืชตายทุกวิธี  ไม่ว่าถอน  โค่น ตัดหรือเด็ด
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าพวกเธอตัดเองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง ซึ่งต้นไม้จริงหรือ” ภิกษุชาวรัฐอาฬวีทูลรับว่า “จริงพระพุทธเจ้าข้า” ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท  พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า “ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้ตัดเองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้างซึ่งต้นไม้ เพราะคนทั้งหลายสำคัญในต้นไม้ว่ามีชีวะ การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลายก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ว่าดังนี้ พระบัญญัติเป็นปาจิตตีย์ในเพราะพรากภูตคาม(พืชพันธุ์อันถูกพรากจากที่แล้วแต่ยังจะเป็นได้อีก)” (วิ.มหา. ๒/๓๕๔/๓๓๒)
ไฉน พวกเธอจึงได้ตัดเองบ้าง ให้คนอื่นตัดบ้าง ซึ่งต้นไม้ (วิ.มหา.๒/๓๕๔/๓๔๖)
อนึ่ง ภิกษุใด ขุดก็ดี ให้ขุดก็ดี ซึ่งปฐพี, เป็นปาจิตตีย์ (วิ. มหา. ๒ / ๓๔๙ / ๓๔๔)
                                ในหมู่มนุษย์ นรชนใดเบียดเบียนสัตว์ อื่นนรชนนั้นย่อมเสื่อมจากความสุขในโลกทั้งสอง คือ โลกนี้และโลกหน้า (ขุ. เถร. ๒๖ / ๓๑๓ / ๒๖๑)
ในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าเราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ (สํ. มหา. ๑๙ / ๑๔๕๙ / ๓๕๔ )
                                เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหดมีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิตเขาตายไป จะเข้าถึงอบาย คติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น (ม.อุปริ. ๑๔ / ๕๘๒ / ๓๒๓)

                สถานการณ์ป่าไม้และต้นไม้สถานการณ์ในปัจจุบันในประเทศไทย 
ป่าไม้และต้นไม้สถานการณ์ในปัจจุบันในประเทศไทย  เมื่อป่าไม้ถูกทาลายลงทรัพยากรต่าง ๆ ก็ถูกทำลายเป็นไปตามลำดับ เพราะความไม่สมดุลของทรัพยากรที่ถูกทำลายลง ด้วยการกระทำของมนุษย์เองที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรมแห่งความสำนึกกตัญญู มีการเบียดเบียนเป็นต้น ในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกว่า “สมัยใด พระราชาหรือผู้มีอำนาจในการปกครอง เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม สมัยนั้นแม้พวกข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พวกพราหมณ์และคฤหบดีก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อพวกพราหมณ์และพวกคฤหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ เมื่อหมู่ดาวนักษัตรหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอคืนและวันย่อมหมุนเวียไม่สม่ำเสมอ..เดือน..ฤดูและปี ย่อมหมุนเวียนไม่สม่ำเสมอ ลมย่อมพัดผิดทางไม่สม่ำเสมอ ฝนย่อมไม่ตกต้องตามฤดูกาล..(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๗๐/๑๐๓-๑๐๔)”
จากข้อมูลจนถึงปัจจุบันพบว่า พื้นที่ป่าประเทศไทยน่าจะเหลืออยู่ ๑๗๑,๕๘๖ ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณร้อยละ ๓๓ ของพื้นที่ที่ดินประเทศไทย เมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าเมื่อ ๕๐ ปีที่ผ่านมาจะมีเนื้อป่าลดลงไปถึงร้อยละ ๕๐ ของที่เคยมี ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยทำลายป่าไปในพื้นที่ ๑/๓ ของเนื้อที่ประเทศไทย ประมาณ ๑๕๕,๘๘๕ ตารางกิโลเมตร หรือ เท่ากับ ๕๖ เท่าของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยในช่วงปี ๒๕๐๔ -๒๕๒๕ มีพื้นที่ป่าหายไปมากที่สุดหลังจากเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มุ่งเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ และการสัมปทานป่าไม้และไม่มีการป้องกันการบุกรุกตามมา พื้นที่ป่ายังลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี ๒๕๔๙ ที่เชื่อได้ว่ามีการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ป่าจากอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีจังหวัดต่างๆที่ปกคลุมด้วยป่าไม้เกือบทั้งจังหวัดประมาณ ๑๘ จังหวัด และมีเนื้อที่ป่าไม้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ ๒๓ จังหวัด ปัจจุบันเหลือจังหวัดที่มีป่าไม้ปกคลุมมากกว่า ๗๐ % อยู่ ๕ จังหวัด และมีจังหวัดที่ป่าไม้ปกคลุมมากกว่าครึ่งหนึ่งของเนื้อที่ ๘ จังหวัด การสูญเสียป่าไม้เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นรายจังหวัดจากอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีจังหวัดที่เคยมีป่าไม้มากปกคลุมกว่า ๗๐% แต่ปัจจุบันสูญเสียไปเกือบทั้งหมด คือ จังหวัดกำแพงเพชร สกลนคร และชุมพร นับเป็นพื้นที่ที่สูญเสียป่าไม้รุนแรงมาก ส่วนจังหวัดที่ป่าไม้ปกคลุมอยู่มากและมีการสูญเสียป่าไม้ราวๆ ครึ่งหนึ่ง ได้แก่ เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สตูล กาฬสินธุ์ นครพนม นครราชสีมา หนองคาย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กระบี่ ตรัง แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดอื่นๆ ก็มีเนื้อที่ป่าลดลงอย่างมากเช่นกัน จากข้อมูลของฝ่ายรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ (จัดทำข้อมูลแผนที่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔) ได้แสดงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเป็นป่าไม้เสื่อมโทรม หรือไม่สมบูรณ์ จะเห็นสถานการณ์ของการรักษาพื้นที่ป่าได้อย่างชัดเจน โดยพื้นที่ที่ยังเป็นพื้นที่สมบูรณ์ปัจจุบันเป็นป่าที่ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์แล้วเกือบทั้งสิ้น และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการจัดตั้งป่าชุมชนอยู่ทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง แต่เป็นพื้นที่เพียงไม่ถึง ๑% ของพื้นที่ ประเทศไทย จากข้อมูลของฝ่ายรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ  (จัดทำข้อมูลแผนที่ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔) ได้แสดงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่มีสภาพเป็นป่าไม้เสื่อมโทรม หรือไม่สมบูรณ์ จะเห็นสถานการณ์ของการรักษาพื้นที่ป่าได้อย่างชัดเจน โดยพื้นที่ที่ยังเป็นพื้นที่สมบูรณ์ปัจจุบันเป็นป่าที่ประกาศเป็นป่าอนุรักษ์แล้วเกือบทั้งสิ้น และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการจัดตั้งป่าชุมชนอยู่ทั่วประเทศกว่าหนึ่งหมื่นแห่ง แต่เป็นพื้นที่เพียงไม่ถึง ๑ % ของพื้นที่ ประเทศไทยแม้ว่าจะมีการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในประเทศไทยได้ประมาณ ๒๐ % ของพื้นที่ประเทศไทย นับว่าเป็นการรักษาพื้นที่ต้นน้ำ และทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของประชากรที่เพิ่มขึ้นและความต้องการที่ดินในการเกษตร โครงการพัฒนา และการท่องเที่ยวต่างๆ ยังเป็นการคุกคามการอยู่รอดของพื้นที่ป่าประเทศไทยอยู่ ซึ่งนับเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยที่ต้องร่วมกันคิดว่าเราจะรักษาป่าที่เหลืออยู่นี้ไว้ให้ได้อย่างไร จากแผนที่เราจะเห็นได้ว่าสีเหลืองเข้มคือพื้นที่จังหวัดที่มีประชากร ๒.๕-๖ ล้านคน และ พื้นที่สีเหลืองอ่อน คือพื้นที่ที่มีประชากร ๑.๖-๓.๕ แสนคน อยู่รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย ในวาระงานรำลึก สืบ นาคะเสถียร วันที่ ๑ กันยายน ของทุกปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการทำข้อมูล "รายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย" ออกมานำเสนอ เพื่อบอกเล่าสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทยว่า ณ ขณะนี้ เรามีป่าเหลืออยู่เท่าไหร่ และในแต่ละปีมีสถานการณ์ใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีอยู่ สำหรับ พ.ศ.๒๕๕๘ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย โดยได้นำเสนอเรื่องราวผ่านเนื้อหาต่างๆ ดังต่อไปนี้ - รายงานสรุปตัวเลขป่าไม้ประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ – ๒๕๕๗ – จำนวนปริมาณการเพิ่มขึ้นและลดลงของป่าไม้เป็นรายภาค - ข่าวเด่นสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ จนถึง สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ - แผนที่แสดงสถานกาณณ์คดีบุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๕๘ เปรียบเทียบจำนวนพื้นที่ป่าไม้กับ ๒๕ ลุ่มน้ำหลักในประเทศไทย (รายงานจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียรseub.or.thโดย webmaster seub)
จากข้อมูลข้างต้นได้แสดงถึง สถานการณ์ป่าที่ถูกทำลาย และแนวทางการอนุรักษ์ผืนป่า ให้กลับมาสู่สภาพเดิม ความต้องการ การใช้ทรัพยากรที่ไม่มีขีดจำกัดของคน ทำให้ต้องกลับมานึกย้อนดูจากสภาพป่าในอดีตที่มีความร่มรื่น เป็นที่อยู่ของสรรพสัตว์  สายน้ำให้คุณค่ากับสิ่งมีชีวิตได้เติบโตตามวิถีทั้งคนและสัตว์ได้อาศัยทรัพยากรเหล่านี้ในการอุปโภคบริโภค แต่เมื่อผืนป่าถูกทำลายลง การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางธรรมชาติได้เกิดขึ้นจากการเบียดเบียนของคน ทำให้สิ่งมีชีวิตให้รับความเดือดร้อน ใครเป็นผู้รับผิดชอบ.
การบวชต้นไม้ เพื่อปกป้องสำนึกรักอนุรักษ์ และแสดงความกตัญญูต่อพื้นป่า จึงเป็นการแสดงเจตนารมย์เพื่อปลุกจิตสำนึก ให้มนุษย์ได้มีความรักหวงแหน ที่ต้นไม้และป่าได้มอบคุณประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตในโลก รู้จักใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และใช้ได้เป็นเวลานานโดยให้สูญเสียน้อยที่สุด"ทรัพยากรธรรมชาติ" สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นประโยชน์กับมนุษย์ "ป่าไม้"  รวมทั้งทรัพยากรต่างๆ ประกอบด้วยพันธุ์พืชหลายชนิดขึ้นร่วมกันอยู่อาศัย  รวมถึงสัตว์ แมลง และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆที่อยู่ในบริเวณบนโลกนี้ รวมทั้งในดิน ผิวดิน และเหนือผิวดิน ที่ให้ประโยชน์อย่างมหาศาลกับคนเรา การจะอนุรักษ์ป่าไม้ให้คงอยู่อำนวยประโยชน์ ให้อยู่กับเราตลอดได้นั้น เราทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด แม้ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้กำลังถูกทำลายลงเรื่อย ๆและมีการปลูกทดแทนก็ตาม ในอนาคตอาจจะหมดลงได้ในไม่ช้า  หากจะให้ทางราชการดำเนินการอนุรักษ์เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ผลเพียงพอ ดังนั้นเราทุกคนจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ ร่วมมือกันจากประชาชน กลุ่มสังคมที่อยู่อาศัยในพื้นที่  ช่วยกันรักษาป่าไม้ในท้องถิ่นของตนเอง รู้รักและหวงแหน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยดำเนินการแก้ไข แนวคิดและจิตสำนึกของคนให้มีความรู้ความเข้าใจว่า สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของมนุษย์  และสิ่งที่มีชีวิตซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน เช่น การบริโภคทั้งกินและใช้ ต้องใช้และกินอย่างประหยัด ให้เกิดคุณค่ามากที่สุด เพราะปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่จำกัด ใช้ทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่างให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและนาน  ด้วยแนวคิดและจิตสำนึกของคนให้มีความรู้ความเข้าใจ  ป่าไม้มีความสำคัญต่อพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่จะต้องมีการอนุรักษ์ไว้เป็นอันดับแรก การอนุรักษ์ป่าไม้ทำได้โดย ๑. บำรุงรักษาสภาพป่าไม้ของบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไปด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การกำหนดพื้นที่ป่าต่างๆ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้อย่างจริงจัง การป้องกันมิให้มีการบุกเบิกขยายพื้นที่เพื่อการทำไร่เลื่อนลอย และการป้องกันไฟไหม้ป่า ๒. ปรับปรุงบูรณะสภาพพื้นที่ป่าไม้ซึ่งถูกทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและจริงจังด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปลูกซ่อมเสริมป่าในบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่า การทำสวนป่า การทำสวนพฤกษศาสตร์หรือสวนรุกขชาติ ตลอดจนการ จัดทำระบบวนเกษตร โดยปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นไม้ผลหรือพืชอื่นผสมในสวนป่า ๓. ประชาสัมพันธ์ ด้วยการให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงภัยอันจะเกิดขึ้นจากการที่ป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารถูกทำลาย และรณรงค์ให้ร่วมมือกับทางราชการในการรักษาป่าไม้อย่างกว้างขวางเป็นต้น อาศัยหลักธรรมคำสอนเรื่อง ความรู้จักบุญคุณกตัญญูกตเวที และการเสียสละเพื่อส่วนรวมโดยรู้จักประมาณในการบริโภคมาเป็นหลักพัฒนาจิตใจให้เกิดความสำนึกในความรักในธรรมชาติ  ด้วยการปลูกจิตสำนึกเรื่องบุญบาปหรือคุณธรรมความกตัญญูรู้คุณ ที่ทรัพยากรธรรมชาติได้มอบให้  ก็จะสร้างความยั่งยืนของผืนป่าในพระพุทธศาสนาตราบเท่าทุกวันนี้และนำความร่มเย็นของผืนป่าสู่ชนรุ่นหลังสืบไป

แหล่งที่มาของข้อมูล
พระไตรปิฎก
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒,๑๔,๑๙,๒๑, ๒๖ (ม. มู. ๑๒ / ๓๘ / ๒๘๙)  (ม.อุปริ. ๑๔ / ๕๘๒ /๓๒๓)
(สํ. มหา. ๑๙ / ๑๔๕๙ / ๓๕๔ ) ..(องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๗๐/๑๐๓-๑๐๔)   (ขุ. เถร. ๒๖ / ๓๑๓ / ๒๖๑)
พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ (วิ.มหา. ๒/๓๕๔/๓๓๒)

รายงานจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร www.seub.or.thโดย webmaster seub